เสาเข็ม / Pile

เสาเข็ม มีหน้าที่ที่สำคัญในการเป็นตัวกลาง รับน้ำหนักทั้งหมดของโครงสร้าง ถ่ายเทน้ำหนักลงสู่ชั้นดินเพื่อให้โครงสร้างอยู่ได้ โดยไม่ทรุดตัวลง

แบ่งตามรูปแบบการก่อสร้าง 

1. เสาเข็มตอก (Driven Pile) มีทั้งเสาไม้ เสาเหล็ก และเสาคอนกรีต โดยส่วนมากที่นิยมใช้ ได้แก่ เสาเข็มคอนกรีต เพราะมีราคาที่ถูกกว่าเสาเหล็ก และมีความแข็งแรงกว่าเสาไม้ ซึ่งเสาเข็มคอนกรีตสามารถแบ่งได้ 2 ชนิด ได้แก่ เสาเข็มคอนกรีตเสริมเหล็ก และเสาเข็มคอนกรีตเสริมเหล็กอัดแรง เสาเข็มคอนกรีตอัดแรงมีผลิตขายในหลายรูปร่าง ได้แก่ รูปตัวไอ (I) , รูปสี่เหลี่ยมตัน , รูปหกเหลี่ยมกลวง และรูปตัวที (T)

2. เสาเข็มเจาะหล่อในที่ (Bored Pile) 

- เสาเข็มเจาะระบบเเห้ง (Dry Process) เป็นเสาเข็มที่สามารถทำงานในสถานที่แคบๆได้ เสาเข็มประเภทนี้เป็นการทำเสาเข็มแบบหล่อในที่ รูปร่างเป็นวงกลม มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 40-60 ซม.

- เสาเข็มเจาะระบบเปียก (Wet Process) เป็นเสาเข็มแบบคอนกรีตเสริมเหล็กหล่อในที่ รูปหน้าตัดทรงกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.75-1.50 เมตร เสาเข็มนี้เมื่อเจาะลงลึกกว่า 20 เมตร จะต้องใช้สารละลาย Bentonite ใส่ลงไปในหลุมเจาะ เพื่อผลักน้ำออกไปจากชั้นทรายเพื่อให้สามารถเทคอนกรีตลงไปได้ ซึ่งเสาเข็มนี้เหมาะกับงานก่อสร้างที่มีขนาดใหญ่ เช่น อาคารสำนักงาน คอนโดมิเนียม ศูนย์การค้า เป็นต้น 

3. เสาเข็มเจาะเสียบ (Auger Press Pile) ช่วยแก้ปัญหาการสั่นสะเทือนและการเคลื่อนตัวของดิน ซึ่งนิยมใช้เสาเข็มกลมแรงเหวี่ยงอัดซึ่งมีรูกลวงตรงกลาง โดยในระหว่างที่กดเสาเข็มลงไปนั้น สว่านที่ใส่อยู่ในรูเสาเข็มก็จะหมุน เพื่อนำดินขึ้นมา เมื่อกดเสาเข็มพร้อมกับเจาะดินจนเสาเข็มจมลงใกล้ระดับที่ต้องการก็หยุดกด ดึงดอกสว่านออกแล้วตอกด้วยลูกตุ้มจนได้ระดับที่ต้องการ

แบ่งตามวัสดุ และส่วนประกอบหลักของเสาเข็ม ดังนี้

1. เสาเข็มไม้ (Timber Pile) หาได้ง่าย น้ำหนักเบา ราคาถูก และขนส่งง่าย แต่ความสามารถรับน้ำหนักค่อนข้างต่ำ ปัจจุบันนิยมเสาเข็มไม้สน และยูคาลิปตัส เหมาะกับการนำไปใช้กับสิ่งปลูกสร้างที่มีขนาดเล็ก

2. เสาเข็มคอนกรีตเสริมเหล็ก (Reinforced Concrete Pile) หล่อในโรงงาน ออกแบบเหล็กเสริมตามยาวให้เพียงพอ ปัจจุบันไม่เป็นที่นิยม จึงใช้เข็มคอนกรีตอัดแรงแทน

3. เสาเข็มคอนกรีตอัดแรง (Prestressed Concrete Pile) ที่นิยมนำไปใช้งาน คือ เสาเข็มกลมแรงเหวี่ยงอัดแรง หรือ เสาเข็มสปัน เป็นเสาเข็มที่มีความหนาแน่นสูงกว่าคอนกรีตที่หล่อโดยวิธีธรรมดา ความทนทานสูง รับน้ำหนักได้มาก 

4. เสาเข็มคอนกรีตหล่อในที่ (Cast-in-place Concrete Pile) หรือ เสาเข็มเจาะ มีผลกระทบต่ออาคารข้างเคียงจากการสั่นสะเทือนน้อยที่สุด ทำความลึกได้มากกว่าเสาเข็มตอก และสามารถควบคุมตำแหน่งได้ดีกว่า 

5. เสาเข็มเหล็ก (Steel Pile) ทำจากเหล็กทั้งท่อน มีความสามารถในการรับน้ำหนักได้สูง มีการเคลือบกันสนิม ไม่มีผลกระทบทางเสียง แรงสั่นสะเทือนน้อย เคลื่อนย้ายได้ง่าย นิยมใช้กับงานโครงสร้างชั่วคราวที่ต้องรับน้าหนักมากแต่ต้องทำการรื้อถอนในภายหลัง

6. เสาเข็มประกอบ (Composite Pile) ประกอบด้วยวัสดุสองชนิดในต้นเดียวกัน จุดเด่น คือ รอยต่อแข็งแรง ทนทาน และสามารถถ่ายน้ำหนักจากท่อนบนสู่ท่อนล่างได้เป็นอย่างดี

Visitors: 22,995